โอมานอีสออซั่มมมม #๖

เมื่อถึงเวลาต้องบอกลาทะเลทราย เรามุ่งหน้ากลับสู่บ้านเงาะมาร์คแบบรวดเดียว มีแวะปั๊มกลางทางครั้งนึง เสาะหากาแฟเย็นหอมหวานที่ติดใจกันไปซะแล้ว ตอนแวะปั๊มมีเรื่องน่าเล่าอยู่เรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่ของวันนี้ เป็นของวันที่เราเพิ่งออกจากแค้มปิ้งริมทะเล คือเงาะปวดฉี่มาก แต่อยู่ในชุดเสื้อกล้ามกางเกงขาสั้นสบายๆ จากชายหาดแล้วโดดขึ้นมาขับรถเลย พอถึงปั๊มจะลงรถ ก็คิดได้ว่าชุดไม่เหมาะสม ถ้าลงไปแบบนี้ชาวบ้านอาจจะไม่ชอบใจ เลยต้องเอาผ้าคุลมสองผืนให้พันตัวไปเข้าห้องน้ำ แต่ละครั้งที่เราซื้อของที่ปั๊มก็จะเจอรีแอคสองแบบ แบบหนึ่งคือเหยียดเลยตรงๆ ไม่เก็บอาการ อีชะนีผมยาว เอาเงินมาแล้วรีบไปซะมึง ชิ้วๆ อีกแบบคือบริการปกติ เพิ่มเติมคือมองมากเป็นพิเศษนิดหน่อยไม่น่าเกลียดอะไร อย่างหลังนี่เดาว่าเป็นพวก Expat เข้ามาทำงาน และพนักงานที่ปั๊มที่เจอก็ล้วนแต่เป็นผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงเลย

สองข้างทางค่อยๆ แปรสภาพจากทะเลทรายกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ภูเขาหินสลับซับซ้อน และพอใกล้เมือง สีเขียวของต้นไม้ต้นไร่ก็เริ่มแต่งแต้มทิวทัศน์ของเราอีกครั้ง ฝ่ารถติดเล็กน้อยที่มัสกัต ถ้าเข้าใจไม่ผิด เราเจอเข้ากับขบวนเสด็จของสุลต่านด้วย ราวๆ เที่ยงวัน พระอาทิตย์กำลังขยันทำงานเต็มกำลัง เราก็ถึงบ้าน

ทุกคนช่วยกันเอาของลงจากรถ แขก (ดอย) อย่างพวกเราทำได้แค่ช่วยยกเข้าบ้าน แต่เรื่องจัดเข้าที่คงต้องเหนื่อยเจ้าบ้านแล้ว ทุกคนอาจจะกำลังมึนแดด ตอนกำลังมุดหัวเช็คของจากประตูท้ายของรถขาว มุ้ยบอกด้วยความเป็นห่วงว่า แอ้ระวังมือนะ เราหันไปถามว่า แกห่วงอะไรมือชั้น หัวชั้นนี่มุดอยู่ทั้งหัว กลายเป็นมุกประจำกลุ่มกันไป

หลังจากนั้นทุกคนก็แยกย้ายกันไปพักผ่อนคนละมุม มุ้ยเอารองเท้าอับชื้นมาล้างอย่างสะอาดแล้วปิ้งแดดที่แรงระดับที่ว่า ถ้ามีไอน้ำลอยขึ้นต่อหน้าต่อตาจะไม่แปลกใจ เราทำตามบ้าง แต่ไม่ล้างสะอาดเท่ามุ้ย กรรมเข้าภายหลังคือกลับมาแล้วรองเท้าเหม็นอยู่ ๓ เดือน ใส่ไม่ได้เลย ซักไปไม่รู้กี่รอบกว่ากลิ่นจะหาย ในขณะที่คนอื่นพักผ่อน เราต้องหาอะไรเล่นอีกเช่นเคย ด้วยความคึก และความประทับใจในรถแดง เลยเอาอุปกรณ์ออกมานั่งวาดรูปรถแดงนอกบ้าน เสียงคอมแอร์ครางต่ำๆ ได้ยินเหมือนมันกำลังพูดว่า เข้ามาตากแอร์ เข้ามาตากแอร์

ก่อนสีโมงเย็นเล็กน้อย แดดลดกำลังลงนิดหน่อย ท้องฟ้าเริ่มมีสีสวย มาร์คสลัดคราบสิงห์ทะเลทรายทิ้งไว้ที่ประตูบ้าน และใช้เวลาลุงๆ หน้าทีวี เงาะพาเราสามคนออกไปเที่ยวตลาดมัทรายามเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าถิ่นแนะนำว่าจะไม่ร้อนจนทรมานมากนัก

ตอนไปถึง พวกเราก็พบว่าที่จอดรถมันเป็นแบบออโต้ หยอดเงินรับการ์ดอะไรสักอย่าง ซึ่งโคตรงงเลย ต้องสะกดรอยดูว่าชาวบ้านเขาทำกันยังไง กว่าจะจอดรถได้ แดดก็กลายเป็นสีทองสวยพอดิบพอดี เราจอดรถบริเวณที่เป็นเวิ้งอ่าวที่เรือสุลต่านจอดอยู่ นกหลายตัวบินฉวัดเฉวียนใกล้ผิวน้ำ มันคงชวนเพื่อนมากินมื้อเย็นกัน ฟุตปาธตรงนี้กว้างและสวย มีคนเดินไปมาขวักไขว่ ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว เวลาถ่ายรูปต้องพยายามหลบๆ ผู้คนท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้หญิง ไม่อยากจะมีเรื่อง

ระหว่างเดินไปยังตลาดมัทรา ทอดสายตาเลยไปนิดหน่อยจะเห็นมัทราฟอร์ทเด่นเป็นสง่าอยูบนยอดเขา ฟอร์ทนี้มีอายุเก่าแก่ถึงสี่ร้อยกว่าปี สร้างขึ้นโดยชาวโปรตุเกสเพื่อต้านทานการรุกรานของออตโตมัน สมัยที่จักรวรรดิออตโตมันกำลังรุ่งเรืองและขยายอาณาเขต พระจันทร์ใจร้อนรีบขึ้นมาพ้นขอบฟ้า โผล่หลังฟอร์ทเหมือนเรียกร้องว่า ถ่ายรูปฉันสิ

ที่ตลาดมัทรา คนเดินด้านหน้าปากทางเข้ากันขวักไขว่ เงาะบอกให้ระวังพวกคนโอมานแก่ๆ ที่ดูรวยๆ ถือไม้ตะพด บางทีไม่ชอบใจใครก็เอาไม้ฟาดดื้อๆ โดยเฉพาะผู้หญิง นี่คิดนะว่าถ้ามึงเงื้อมา กูคว้าอีกปลายละฟาดกลับแน่ๆ ฟาดมาฟาดกลับไม่โกง สัญญาเลย ดีที่ไม่มีใครเปิดก่อน เลยได้เดินตลาดอย่างสงบสุข

ร้านรวงในตลาดเปิดแผงหน้าร้านกว้างกว่าจตุจักร ข้าวของเยอะ สวยๆ แปลกตาทั้งนั้น แต่เรางกเลยช้อปมาแค่ไม่กี่อย่าง สิ่งที่พุ่งเข้าใส่เป็นอย่างแรกคือผ้าคลุมผืนใหญ่ จับแล้วรู้สึกดีว่ะ ไม่เหมือนผืนละร้อยสองร้อยที่ใช้อยู่ หลังจากต่อราคากันอย่างเมามัน ก็ดีลในที่สุด ทุกวันนี้ผ้าผืนนี้ก็ยังเป็นผืนโปรด ไปไหนมาไหนด้วยกันมาหลายทริปแล้ว นอกจากผ้า เราซื้อโปสการ์ดมาปึกหนึ่ง แล้วเห็นคนขายท่าทางใจดี เลยถามว่าเขียนภาษาโอมาน (Omani Arabic) ได้ไหม แกบอกแกเขียนไม่ได้เพราะไม่ใช่คนโอมาน แต่แกเรียกลุงท่าทางใจดีอีกคนนึงมาเขียนให้ บอกว่าลุงเนี่ยเขียนได้ เราออกเสียงชื่อตัวเองให้แกฟังสามสี่ครั้ง แกบอกเขียนให้ตรงเป๊ะๆ ภาษาโอมานไม่มีนะหมวย เลยสะกดชื่อเราออกมาคล้ายๆ ภาษาญี่ปุ่น พิทิปุ เรามีความสนใจในตัวหนังสือภาษาต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และปิ๊งภาษาอาหรับมาก เราว่าโคตรเท่ห์เลย พอได้ตัวสะกดชื่อตัวเองมา กลับมาก็มากูเกิ้ลดูพวก Arabic for dummies จนสะกดชื่อเพื่อนๆ ได้หมดทุกคนเลย (ที่รู้เพราะผสมอักษรแล้วเอาไปให้กูเกิ้ลอ่าน มันอ่านออกมาได้ใกล้เคียงมาก) นอกจากนั้นก็ได้หมึกเขียนเฮนน่ามาเล่น แต่สุดท้ายลองนิดหน่อยแล้วล้างไม่ค่อยออก เลยไม่กล้าเล่นเลยจ้า กลัวต้องไปเลเซอร์ลบรอยสักปานแดงปานดำ

พวกเราใช้เวลากันพอสมควรในตลาดมัทรา ถ้าเป็นคนถ่ายรูปเก่งๆ เราว่าถ่ายรูปสนุกเลยแหละ ตอนเดินกลับฟ้าก็มืดหมดแล้ว เพื่อนๆ โดนป้าร้านอินทผาลัมตกอย่างจัง ช้อปป้าไม่พอ ยังไปช้อปห้างต่ออีกคนละถังใหญ่ๆ อินทผาลัมหรือ Date บ้านเราก็ปลูกได้ แต่แปลก บ้านเราน้ำมากกว่า ลูกมันกลับไม่หวานหอมเหมือนของปลูกทะเลทรายแท้ๆ พอออกจากตลาด เราสี่คนก็เลยมุ่งหน้าไปห้างสำหรับมื้อเย็น และสำรวจซุปเปอร์มาร์เก็ตก่อนกลับ รีวิวแบบเร็วๆ เลยนะ อาหารญี่ปุ่นไม่อร่อย อินทผาลัมถูก และชีสต่างๆ ราคาถูกมาก

ด้วยความกระหายอาหารญี่ปุ่นเลยลองไปจัดดูซักหน่อย ปรากฏว่าสวยแต่รูปว่ะ ความอร่อยไม่สมราคาเท่าไหร่ แต่ก็แก้ขัดพอได้

เช้าวันถัดมา เราตื่นแต่เช้าเฝ้าตะวันขึ้นบนดาดฟ้าตามปกติ จากนั้นก็แพ็คกระเป๋าอย่างยากลำบากเพราะต้องหาที่ยัดชีสกับอินทผาลัมถังย่อมๆ เนื่องจากสายวันนั้นเราจะไปชมแกรนด์มอสก์ ซึ่งเราขอแปลเองว่ามัสยิดหลวงก็แล้วกัน ในมัสยิดย่อมจะมีเดรสโค้ด ซึ่งก็ไม่ยากแค่ปิดแขนขาและผม ชุดเราเตรียมมาแล้ว ผ้ามี แต่โพกผ้าไม่เป็นเลยเปิดยูทูปทำตาม ซ้อมอยู่หลายรอบกว่าจะโพกให้แน่นได้ แต่ออกมาแล้วดูไม่จืดเลย การโพกผ้าฺฮิญาบน่าจะเหมาะกับคนที่หน้าคมๆ ตาโตๆ เพราะสีเข้มของผ้าจะไม่สามารถกลบเครื่องหน้าได้ แต่อีป้าตาตี่แบบเรา แม่งขนมเข่งมากๆ อะ แก้มมันล้นออกมาแล้วตาเป็นขีดๆ บัดซบ

มาถึงตรงนี้ เราเสียใจที่จะต้องเล่าตามตรงว่า เราไปถึงลานจอดรถของมัสยิดหลวงซึ่งค่อนข้างกว้างและอยู่ด้านหลัง ต้องอ้อมประมาณนึงถึงจะเจอทางเข้าตอนเวลา ๑๐:๔๐ ด้านในสุดของมัสยิดเปิดให้ชมถึง ๑๑:๐๐ โดยเวลาที่เหลือเดินภายนอกได้อีกนิดหน่อยก่อนถูกกวาดต้อนออก โอ๊ย.. รีบมาก ลนลานที่สุด เสียดายที่ไม่ได้ใช้เวลาชมช้าๆ คนไม่เยอะเท่าไหร่ มัสยิดหลวงสวยงามและโอ่โถงมากๆ แดดแจ่มจ้ายามสายซอกซอนเข้าไปทุกอณูที่จะเข้าได้

เขียนยังไม่เสร็จ ไปนอนละ พรุ่งนี้ต้องตื่นเช้า เดี๋ยวมาแก้วันหลัง บั๊ย..

โอมานอีสออซั่มมมม #๕

หลังจากมื้ออาหารริมชายหาดอันสวยงาม เราก็หันหลังให้ทะเลน้ำ และมุ่งหน้าเข้าสู่ทะเลทราย ด้วยสภาพที่เพลียเพราะเดินตากแดดกันมาก่อนต่อด้วยกินอิ่มเป็นงูหลามย่อมๆ ก็ห่วงเงาะว่าจะขับรถไหวไหม อย่างที่เกริ่นไว้ทีแรกว่าเราถือใบขับขี่สากล ซึ่งเงาะบอกว่าขับรถส่วนบุคคลที่โอมานไม่ได้ ตุ๊กตาหน้ารถทำอะไรมากไม่ได้เลยชวนเม้าท์รัวๆ ถ้าจะปลอดภัยเรื่องดาราเซเล็บที่เผือกๆ ไว้ก็ได้เวลางัดมาใช้กันล่ะ เป็นเซฟท็อปปิคที่ตาสว่างดีเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ใครได้กับใครมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราซักหน่อยนี่หว่า

ตอนมาถึงเมือง Bidiyah ปราการด่านสุดท้ายก่อนเข้าทะเลทรายเงาะก็โดนตำรวจเรียกไปทีนึง ดูเหมือนว่าเรียกเพราะเหยียดความเป็นผู้หญิงไม่คลุมผม และพอดูเอกสารพบว่าเป็นต่างชาติก็ตั้งท่าจะเล่นใหญ่ เงาะมีเอกสารครบหมดทุกอย่าง แต่หมาต๋าก็ลีลาอยู่นาน รู้สึกเหมือนพยายามถ่วงเวลาหาเรื่อง จะยังไงก็ไม่รู้แหละ ถึงมาร์คมุ้ยจะนำหน้าไปก่อนแล้ว แต่ถ้าหันหลังมาเห็นว่าไม่ตามคงย้อนกลับมาดู รู้อย่างนี้ก็อุ่นใจว่ายังไงก็มีแบ็คอัพ ถ้าไปคันเดียวผู้เป็นหญิงล้วนในประเทศที่ผู้หญิงควรเสงี่ยมเจียมตัวอยู่แต่ในรั้วบ้านก็คงเสียวๆ เหมือนกัน ชีวิตคู่ก็คงแบบนี้มะ รู้สึกมีแบ็คอัพ?

อันนี้ก็ไม่รู้สินะ ไม่มี ฮ่าๆๆ

ที่บิดิยาห์ ออกเสียงถูกรึเปล่าไม่รู้เหอะ เราเปิดกูเกิ้ลแม็พเดินทางตามปกติ แล้วก็ค้นเจอชื่อที่พักของเราซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในทะเลทรายประมาณ ๒๐ กม. แต่การนำทางของกูเกิ้ลมันหายไป เพราะไม่มีถนนแล้ว เงาะมาร์คจอดรถปรึกษากันว่าจะเลี้ยวเข้าทะเลทรายตรงไหนดี เราอยากแสดงความเห็นว่าไปตามรอยทรายที่ดูจากแม็พแบบภาพดาวเทียมดีไหม แต่ก็ไม่มีข้อมูลอะไรมาแบ็คอัพ รอยทรายนั้นมันคืออะไรยังไม่รู้เลย สุดท้ายขบวนของเราก็มุ่งหน้าเข้าสู่ทะเลทรายด้วยเส้นทางเก่าที่เงาะมาร์คเคยมาเที่ยวก่อนหน้านี้

สองข้างทางสวยอลังการมาก ซึ่งแน่อยู่แล้วล่ะมันครั้งแรก มันต้องอู้อ้า น่าตื่นเต้นไปหมด แต่แถมพิเศษไปกว่านั้นอีกด้วยแสงเย็นสีทองที่เป็นฟิลเตอร์ฉาบทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่หมู่บ้านน้อยๆ ชิดเนินทราย ต้นไม้ห่างๆ นานๆ ต้นที่ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางความแห้งแล้งได้อย่างน่าประหลาด อูฐกลุ่มละสามสี่ตัวที่เดินเนิบๆ ไม่มีถนนที่มนุษย์สร้างแล้ว ยานพาหนะของเราเคลื่อนตัวไปตามรอยล้อที่ประทับบนผืนทรายของรถคันอื่นๆ ก่อนหน้า ช่วงแรกๆ ทรายนุ่มๆ หายไปจากผิวเป็นระยะทางไกล เผยให้สัมผัสถึงผิวดินแน่นๆ ด้านล่าง ที่อัดตัวเป็นคลื่นขนาดแลมบ์ดา ๐.๕ – ๑ เมตร รถเราสั่นกระพือทุกครั้งที่ขับไปบนลอนคลื่นพวกนี้จนหัวสั่นหัวคลอนไปหมด รถแดงของมาร์คขับนำหน้าไปไกล บางจุดเรางงว่าตะกี้รถพ่อบ้านเขาลงเนินไปทางซ้ายหรือขวาวะ ต้องเดาๆ ตามรอยฝุ่นกันไป รถขาวคันนี้เป็น SUV แม่บ้านที่มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อด้วย มาร์คอธิบายทีหลังว่า รถธรรมดาที่ไม่ได้แต่งมาเพื่อขับในทะเลทราย สามารถปล่อยลมยางออกเยอะๆ ได้เพื่อช่วยให้ล้อมันไม่จมจนติดทราย แต่แกบอกว่ารอบนี้ไม่ได้ให้ปล่อยลม เพราะขี้เกียจไปหาที่เติมลมตอนออกจากทะเลทราย ตรงจุดที่ทรายนุ่มๆ หนาๆ จึงต้องขับด้วยสกิลแทน ซึ่งจะเล่าเป็นลำดับถัดไป

ก่อนหน้าที่เราจะมา พวกเราหาข้อมูลและเจอคนไทยรีวิวการท่องเที่ยวทะเลทรายโอมานที่มีภาพประกอบทำให้เข้าใจได้ว่า พวกเขาเดินทางด้วยการขับรถเช่าคันน้อยๆ ไปเที่ยวที่ต่างๆ ตลอดจนไปนอนแค้มป์ทะเลทราย เราว่าการรีวิวแบบนี้ ไม่โอเคนะ มันอาจจะน้อยครั้งมากที่มีใครออกเดินทางอ้างอิงจากข้อมูลของเราจริงๆ แต่ถ้าเกิดมีขึ้นมา ข้อมูลแบบนั้นอาจจะเป็นอันตรายกับคนอื่นได้ โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

รถ ธรรมดา ขับ เข้า ทะ เล ทราย ไม่ ได้ นะ

แม้แต่ผู้ชำนาญการยังมีพลาด เรารู้ตัวตอนที่ตำแหน่งในกูเกิ้ลมันขยับจนเรามาถึงบริเวณที่ควรจะเป็นแค้มป์แล้ว แต่ไม่เห็นแค้มป์ เพราะแค้มป์อยู่อีกฝั่งของเนินทรายสูงๆ ที่ถ้าเรามาด้วยคันแดงคันเดียว มาร์คคงพาไต่ข้ามไปละ แต่มีรถขาวด้วยเลยได้แต่มองตาปริบๆ พระอาทิตย์กำลังลับหายไปที่หลังเนินทรายอีกด้าน และความมืดมิดค่อยๆ โรยตัวลงมา ถ้ายังเร้าใจไม่พอ น้ำมันรถทั้งสองคันก็พร่องไปเยอะด้วยโดยเฉพาะคันขาวเพราะถังเล็กกว่า ตั้งแต่ออกมายังไม่ได้เติมเลย เราพยายามหาจุดที่โทรศัพท์มีคลื่น แล้วโทร.ถามที่พัก เขาบอกต้องมาเช็คอินกับเขาที่เมืองบิดิยาห์ก่อน ถึงจะนำทางเข้ามาได้ โอ้วมายก้อด พวกเราโวยวายกันใหญ่ว่าทำไมเพิ่งมาบอกวะ ก่อนจะพบว่า เขาเขียนไว้ในคอนดิชั่นตอนที่จองแล้วแหละ อ่านไม่ถึงเอง วั้ยยยย ขาเข้ามา เราชิวๆ ชมอูฐชมวิว ใช้เวลาเกือบชั่วโมง มาถึงจุดที่ต้องเลี้ยวกลับ มาร์คขับนำแบบเร็วขึ้นมาก เงาะก็เลยขับเร็วตาม แปลกมากที่พอใช้ความเร็วสองเท่าแล้ว ตอนผ่านพื้นที่เป็นคลื่นๆ นั่นมันไม่กระแทกอีกเลย เหมือนลอยผ่านไปเฉยๆ เลย ใช้เวลา ๒๐ นาทีก็กลับถึงตัวเมือง ไวจุง

หลังจากเติมน้ำมันแล้ว เราก็ไปเช็คอินที่ส่วนต้อนรับ ซึ่งเป็นชั้นสองของอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง โถงนั้นตีโล่งตลอดไม่มีกั้นห้อง มีโต๊ะพนักงานต้อนรับกับชุดรับแขก ทั้งหมดตกแต่งในสไตล์สากลปนอาหรับดูแปลกตาดี เจ้าหน้าที่ให้เรานั่งพัก ดื่มน้ำ และค่อยๆ ทำตามขั้นตอนต่างๆ อย่างสโลว์โมชั่นสุดๆ แต่เราก็ไม่มีอะไรจะรีบแล้วตอนนั้น ก็เลยปล่อยให้พ่อคุณได้ละเมียดละไมไป เราต้องกรอกข้อมูล ยื่นเอกสาร และจ่ายเงินที่นั่น และรออีกพักใหญ่รถขับนำจึงมาถึง

ก่อนหนึ่งทุ่มเล็กน้อย ท่ามกลางความมืดสนิท รถสามคันขับตามกันมุ่งหน้าเข้าสู่ทะเลทรายเวิ้งว้าง เห็นแค่ไฟท้ายของคันหน้าที่วับแวมปรากฏขึ้นและหายไปตรงเนินลูกนั้นลูกนี้ หลังผ่านพื้นดินแน่นๆ มาได้ไม่นานก็ถึงจุดที่ทรายนุ่มหนา พอต้องขึ้นเนินทรายเนินแรก รถขาวก็ติดทรายทันที ยิ่งเดินหน้าล้อยิ่งปั่นจมลงไปในทราย เงาะต้องถอยหลังยาวมาตั้งต้นใหม่ สองคันหน้าวนกลับมาและแนะนำว่าให้ขับไปเลยโดยไม่หยุดไม่ชะลอ ถ้าความเร็วตก ล้อมันจะจมทรายทันที คราวนี้ยิ่งเร่งยิ่งจม พยายามอยู่พักหนึ่ง มาร์คก็มีวิธีที่ดีกว่า คือสลับคันกันขับ เพราะรถแดงแค่เหยียบคันเร่งมันก็ไปได้หมดอยู่แล้ว ส่วนแกจะมาขับคันขาว มุ้ยกับหนิงย้ายตามเงาะไปคันแดง แต่เราขออยู่คันขาวเพราะอยากดูโปรขับแบบริงไซต์

โอ้โห โปรก็คือโปร มาร์คขับรถแม่บ้านจับพวงมาลัยมือเดียว ไต่ขึ้นเนินทรายสูงๆ หนานุ่มด้วยการเลี้ยงพวงมาลัยซ้ายขวาๆ ทีละน้อยด้วยความเร็วพอสมควรและสม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกว่ารถกำลังเลื้อยขึ้นเนินเหมือนงู ลื่นไหลเหมือนกำลังเซิร์ฟอยู่บนคลื่นทราย เป็นอะไรที่โคตรเจ๋งมาก อยากหัดขับแบบนี้บ้าง เราทักว่า นี่มันยังไม่ท้าทายพอ ยูขับวันแฮนด์เลยเหรอ มาร์คปล่อยมือทันที โนแฮนด์ก็ได้นะ แว้กกกกก

มาร์คบอกว่า เมื่อกี้ตอนหลงทางแล้วต้องขับกลับ ภาคภูมิใจภรรยามาก พอคับขันขึ้นมาก็ขับรถเร็วเป็นด้วยแฮะ เราบอกว่า ขาเข้ามัวแต่กรี๊ดกร๊าดกันไง มันเลยช้า แกตะโกนว่า ยูก็ต้องหยุดพูดบ้างเซ่ ฮ่าๆๆ

เรามาถึง Safari Desert Camp ในที่สุด พอลงรถก็พบว่าอากาศเย็นและรู้สึกเบาสบาย บ้านพักแต่ละหลังเป็นบ้านดินสีน้ำตาลเหมือนทะเลทราย กระจายตัวกันในบริเวณรั้วเตี้ยๆ แผ่กว้างบนที่ราบใกล้เนินทราย แต่ละจุดสว่างเรืองๆ ด้วยแสงไฟโซลาร์เซลล์ สำหรับคนที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์อยู่ในพื้นที่กันดารที่สร้างแสงสว่างยามค่ำคืนด้วยไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ต้องขออธิบายให้เห็นภาพว่า มันไม่ได้สว่างเหมือนหลอดไฟบ้าน ถ้าใช้หลอดสีเหลืองมันก็จะสว่างเหมือนแสงจันทร์ดวงน้อยๆ ที่เอามาเปิดต่อๆ กัน หลอดสีขาวอาจจะสว่างกว่าเล็กน้อย แต่ก็จะอ่อนแสงลงเรื่อยๆ เมื่อไฟเริ่มพร่องจากหม้อแบต เจ้าหน้าที่ต้อนรับพวกเราและพาพวกเราไปส่งบ้านพัก ซึ่งได้อยู่กันคนละฟากแค้มป์ เราจะเก็บข้าวของและออกมากินอาหารเย็นซึ่งรวมอยู่ในแพ็คเกจ ทางเดินน้อยๆ เชื่อมแต่ละบ้านเข้าหากัน ถึงจะไม่มีอะไรบดบังสายตาเลย แต่มันมีทางแยกเยอะ และบ้านแต่ละหลังก็เหมือนกันไปหมดจนดูงงมากๆ ในแสงสลัวๆ เราจึงท่องจำเส้นทางเดินกลับมายังห้องอาหารเอาไว้ “ขวา ถึงสามแยกแล้วซ้าย เจออีกแยกตรงไป เห็นเสาไฟเตี้ยๆ เดินเลยเสาไป เลี้ยวขวา เจอต้นไม้ หลังที่สองถัดจากต้นไม้ ฯลฯ”

เรามุ้ยหนิงนอนห้อง ๓ คน ด้วยกัน เป็นห้องที่เหมาะกับความต้องการด้วยเตียงควีนไซส์ ๒ เตียงและเตียงเดี่ยวปกติอีก ๑ เตียง มีหน้าต่างสองด้าน ห้องน้ำอยู่ด้านนอกและไม่มีหลังคา สามารถแหงนหน้าชมพระจันทร์ได้พร้อมๆ กับอาบน้ำด้วยเรนชาวเวอร์ ซึ่งความแรงของน้ำปกติจนน่าประหลาดใจ เพราะมองไม่เห็นทาวเวอร์เก็บน้ำอยู่ในระยะใกล้ๆ เลย และไม่ได้ยินเสียงปั๊มน้ำด้วย เลยเป็นปริศนาที่เพื่อนๆ อาจจะไม่สนใจ แต่เราหมกมุ่นอยู่นาน (สุดท้ายเราสมมติเอาเองว่า ถ้าเราเป็นคนออกแบบที่นี่ อยากให้น้ำแรง แต่ไม่อยากใช้ปั๊มออโต้ให้เกิดเสียงรบกวน ทางที่ดีที่สุดคือใช้แรงโน้มถ่วงสร้างแรงดันน้ำ แต่ไม่อยากตั้งทาวเวอร์ทำลายความสวยงามของทิวทัศน์ เราอาจจะเอาแทงค์น้ำไปฝังบนยอดสูงสุดของเนินทรายแล้วเดินท่อมายังจุดจ่าย ก็อาจจะเป็นไปได้..)

ในห้องอาหารที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ถาดอาหารเรียงอยู่ด้านหนึ่ง ที่นั่งส่วนมากเป็นโต๊ะเก้าอี้ แต่ด้านริมสุดมีที่นั่งแบบเทรดดิชั่นนอล เป็นเหมือนโซฟาไม้ยาวๆ ชิดผนัง ประดับด้วยพรมหนาๆ ทั้งบนที่นั่งและที่พื้น มีผู้ชายอาหรับสามสี่คนนั่งชันเข่าคุยกันเบาๆ ปรายตามองนักท่องเที่ยวแบบเหยียดๆ ตามที่เกริ่นไว้ตอนต้นๆ ว่าคนโอมานแท้มีจำนวนน้อยมากจนต้องเอาท์ซอร์สต่างชาติเข้ามาทำงานมากมาย สำหรับคนจากแดนไกลอย่างเรา ตอนแรกๆ ก็ดูไม่ออกว่าใครเป็นคนโอมานใครเป็นต่างชาติ แต่หลายวันผ่านไป เริ่มบอกได้ว่าผู้ชายชุดขาวพันผ้าบนหัวที่มองคนอื่นเหยียดๆ เป็นไปได้มากว่าเป็นคนโอมานแท้

โต๊ะวางถาดอาหารอยู่ในจุดที่แสงไฟอ่อนมาก เรามะงุมมะงาหราสุ่มๆ ตักอาหารกันในความมืด พนักงานสาวภาษาอังกฤษคล่องแคล่วคนหนึ่งเข้ามาคุยด้วยและถามว่าเราต้องการขี่อูฐไปดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าไหม เรา หนิงและมุ้ย ตกลงจองขี่อูฐซึ่งต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า (ไม่ได้ลำบากอะไรนี่ นาฬิกาชีวภาพคือแปดโมงเช้า) ส่วนเงาะกับมาร์คเคยทำสิ่งนี้มาแล้ว เลยขอตัวนอนให้เต็มอิ่ม

หลังกินข้าวเย็นเสร็จ (อาหารอาหรับอร่อยมาก ขนาดมองไม่ค่อยเห็นว่ากินอะไรไปบ้าง แต่ก็เอนจอยสุดๆ) เราเดินเล่นรอบๆ มีเต็นท์กระโจมเปิดโล่งที่กางไว้ให้บรรดาผู้ชายไปนั่งดูดบารากู่แล้วพูดคุยกัน มาร์คไปนั่งก่อน พวกเราก็เลยตามไป เขาเอาพรมปูลงไปบนทราย แล้วมีหมอนอิงวางไว้หลายใบ เรานั่งเอนหลังตรงส่วนที่อยู่นอกหลังคาเต็นท์ หูฟังบทสนทนา ตาก็แหงนมองฟ้าที่ปราศจากแสงรบกวน ตาวเต็มฟ้า อากาศเย็นและแห้งกำลังสบายพร้อมลมพัดเบาๆ เมื่อได้เวลาพอสมควร เราก็แยกย้ายกันกลับบ้านพัก เราหนิงและมุ้ยยังลากเก้าอี้นั่งเล่นไปกลางลานหน้าบ้าน แล้วนั่งดูดาวกันอยู่อีกพักใหญ่ เนื่องจากบ้านพักไม่มีแอร์ ถึงอากาศจะกำลังสบายแต่ก็ต้องนอนเปิดหน้าต่างอยู่ดี ไม่งั้นจะเริ่มไม่เย็นสบายละ มาร์คบอกว่าให้สังเกตทิศทางลมที่พัด ให้ปิดหน้าต่างด้านที่ลมจะเข้า แล้วเปิดด้านที่อยู่ปลายลมแทน เพราะเวลาลมมันพัดมันจะหอบทรายเข้ามาด้วยตลอดเวลา

เช้าวันต่อมา เราตื่นก่อนเวลานัดเล็กน้อย เตรียมตัวไปขี่อูฐด้วยเสื้อผ้าที่กระชับ และรองเท้าผ้าใบที่ยังไม่แห้งสนิทดีจากวาดี้ชาบแต่จำเป็นแล้วล่ะ ใส่ๆ มันไป สำหรับตัวเราเอง มีประสบการณ์อยู่บ้างนิดหน่อย เคยฝึกขี่ม้าเล่นๆ มาก่อน แล้วก็เคยนั่งอูฐระหว่างไปเที่ยวมาแล้วหนึ่งครั้ง กับความคุ้นเคยในสัตว์กีบเพราะที่บ้านมีอยู่ฝูงใหญ่ ทำให้พอจะรู้ว่าต้องเตรียมอะไรไปบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้กังวลใจคือ ตอนตีห้าครึ่งทุกอย่างยังมืดสนิท เราเดินงมทางกลับไปทางอาคารห้องอาหาร ระหว่างทางเจอซุ้ม ที่นั่งตะคุ่มในความมืดคือผู้ชายแต่งชุดขาวชาวโอมาน เขาบอกว่าเขาคือคนที่จะมาพาขี่อูฐ ตอนเดินตามเขาผ่านซุ้ม ออกนอกรั้วของแค้มป์ไป รู้สึกหวาดๆ ว่านี่ถ้าหลอกไปทิ้งกลางทะเลทรายจะทำไงวะเนี่ย

คณะน้อยๆ ของเรามีอูฐสามตัวรออยู่แล้ว เราได้ขึ้นคนแรกตัวหน้า อาจจะเพราะกล้ากว่าเพื่อนๆ หรือไม่ก็อ้วนสุด เพราะโดยมากคนจูงจะจูงเฉพาะตัวหน้า แล้วเอาเชือกผูกตัวหลังๆ ไว้กับตัวหน้าอีกที สัมภาระหนักสุดก็อาจจะเหมาะที่เอาไว้กับตัวที่เป็นผู้นำฝูง เป็นข้อดีที่ทำให้เราถ่ายรูปสวยๆ ได้ทันทีที่จับจังหวะเดินของน้องอูฐได้แล้วก็กล้าปล่อยมือ และยังหันหลังกลับไปถ่ายรูปเพื่อนๆ ได้อีกด้วย

อูฐนี่เวลาจะนั่งมันจะคุกเข่าเอาขาหน้าลงก่อน และเวลาจะลุกจะเอาขาหน้าขึ้นทีหลังเสมอ เพราะฉะนั้นช่วงเวลาน่ากลัวของเราก็จะเป็นเวลาลุกนั่งของน้องๆ นั่นเอง ตอนน้องอูฐเหยียดขาหลังขึ้นก่อน เราก็จะหน้าคะมำอย่างแรง ส่วนตอนคุกเข่าลงนั่งก็จะหัวทิ่มแรงกว่าอีกประมาณ ๒๐% ขาน้องผอมๆ แต่แข็งแรงมาก ส่วนเท้าทั้งสี่บานออกเป็นปุ้มๆ ใต้ฝ่าเท้าเป็นเนื้อนูนท่าทางจะนุ่ม เวลาเดินแล้วเกาะทรายดีเยี่ยม เห็นอูฐที่โอมานแล้วรู้สึกว่าอย่างน้อยก็ปฏิบัติกับพวกมันดีพอสมควร ไม่แทงจมูกสนตะพาย แต่ใช้วิธีผูกขุมแทน เราตั้งชื่ออูฐของพวกเราว่า อูฐหนึ่ง อูฐสอง และอูฐสาม

ทันทีที่พร้อม อูฐทั้งสามนำด้วยการเดินจูงของชายชุดขาวก็พาเราฝ่าความมืดสู่เนินทราย คนจูงอูฐสุภาพและพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย แนะนำตัวว่าเขาเป็นชาวปากีสถาน ที่มาทำงานอยู่ที่นี่ (มิน่าล่ะ ถึงได้ดูอ่อนโยนใจดี) เส้นทางการเดินก็จะไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ บางจุดที่ชันน้องๆ ก็จะเดินเลียบพื้นที่ลาดเอียงอย่างมั่นคง ถึงอย่างนั้นก็มีสไลด์เหมือนกัน เสียวมากแต่เรากับเพื่อนๆ ก็เป็นพวกไม่ส่งเสียง ยิ่งตกใจยิ่งเงียบกริบ พอแสงสว่างค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น เราก็มองเห็นริ้วสีขาวที่ถมตรงกลางระหว่างเนินทรายสูงๆ ถึงกับตะลึงไปเลยว่า อยู่ๆ ได้ดูทะเลหมอกด้วยว่ะเฮ้ย

พอเดินมาถึงเนินทรายที่สูงสุดในละแวกนั้น ขบวนของเราก็จอดให้ลงไปนั่งรอดูพระอาทิตย์ขึ้น มีนักท่องเที่ยวเป็นฝรั่งอีก ๑ ครอบครัวที่มีเด็กด้วย แต่วิวกว้างใหญ่ระดับนี้ ต่างคนต่างก็จับจองที่ยืนที่นั่งห่างๆ กัน ทรายที่ผ่านค่ำคืนมาหยกๆ เย็นเจี๊ยบและนุ่มมากๆ ไม่เหมือนทรายทะเลโดยสิ้นเชิง ทุกๆ ก้าวของเราเป็นการประทับรอยเท้าก้าวแรกของเช้านั้น เวลาต้องเดินไปบนริ้วลายของทรายที่เป็นคลื่น ทั้งรู้สึกว่าเราทำลายความงามตามธรรมชาติ แล้วก็รู้สึกฟินไปพร้อมๆ กัน เราวางกระเป๋าลง แล้วนั่งลงบนทรายนุ่มๆ เพื่อเสพบรรยากาศ จนกลับถึงไทยแล้วถึงได้เจอว่าทรายบนยอดเนินมันไหลเข้ากระเป๋าเยอะพอสมควร ดีใจมาก รีบเทใส่ถุงเก็บไว้ ไว้เอามือล้วงบี้เล่นๆ เวลาคิดถึง

พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ทุกอย่างมีฟิลเตอร์สีทองมาครอบอีกครั้ง ขบวนของพวกเราออกเดินลงเขากันพร้อมๆ กับแดดที่ค่อยๆ เผาให้หมอกจางหายไป อูฐสองที่หนิงขี่ ยื่นหัวมาเสมอไหล่ของอูฐหนึ่ง แล้วหันหัวมาดูเราบ่อยๆ หันดูไม่พอ เอาตัวมาสีขาดีฉันเลยค่ะ เราจับหัวมันเล่น มันไม่ว่าอะไรด้วย เหมือนเป็นเพื่อนกันเลย แต่หนิงบอกเสียวมาก เพราะหัวมันมาเล่นกับเรา แล้วตัวมันก็เบียดอูฐหนึ่งไปด้วย เวลาเบียดกันตรงทางลาดเอียงก็น่าหวาดเสียวซะเหลือเกิน ส่วนมุ้ยบ่นว่าอูฐสองเดินไปขี้ไปตลอดเวลา

เบื้องล่างที่ซาฟารีแค้มป์ หมอกบางๆ ยังลอยปกคลุมเฉพาะบริเวณแค้มป์ ทำให้ดูสวยอย่างประหลาด หิวก็แสนจะหิวแต่เราก็วิ่งเล่นถ่ายรูปไปมาก่อนที่แสงนวลตาของยามเช้าจะจากไป

ที่ห้องอาหาร มีแสงสว่างและมองเห็นแต่ละเมนูแล้ว ทำให้พวกเรากินกันอิ่มแปล้เลย เรากับมุ้ยน่าจะวนไปตักฮัมมูสกันคนละสามรอบได้ ตั้งแต่กลับมายังไม่ได้กินอีกเลย อยากกินว้อยยยย

พนักงานสาวที่ต้อนรับเราเมื่อคืนมาทักทายว่าขี่อูฐเป็นไงบ้าง เรากำลังตื่นเต้นเลยโม้กับน้องแบบรัวๆ ว่ามันสุดยอดขนาดไหน ถึงกับวิ่งไปเอากล้องมาเปิดรูปโชว์ น้องคุยกับเราไม่หยุดเหมือนกัน แล้วก็เริ่มขอจับผม น้องบอกว่าเจ๊ (แปลเป็นไทยให้เลย น้องน่าจะเรียกเจ๊นี่แหละ) ผมเจ๊สวยจังค่ะ ยาวมากด้วย

เรามองหน้าคมๆ ของน้องซึ่งเป็นสาวโอมานแท้ โพกผ้าฮิญาบหลวมๆ มีปอยผมโผล่ออกจากผ้าโพกตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย แสดงว่าน้องต้องเฟี้ยวพอสมควร เลยเติมเชื้อให้ซะหน่อย “เจ๊เชื่อว่าผมหมวยก็ต้องสวยเหมือนกัน แต่หมวยต้องซ่อนมันไว้ใช่ไหมล่ะ”

เราตกลงเวลาออกเดินทางกันไม่เกินสิบโมง หลังเก็บกระเป๋าเช็คเอาท์เรียบร้อย มองเห็นรถแดงไต่เนินเล่นอยู่ไกลลิบๆ พอเราถามมาร์คว่า ทำไรน่ะ มาร์คก็อัญเชิญเราสามคนขึ้นรถทันทีเป็นการแสดงพิเศษแถมท้าย ส่วนเงาะขอยืนดูข้างล่างดีกว่า รถแดงแรงฤทธิ์ไต่เนินสูงที่เป็นทรายนิ่มๆ ขึ้นไปหน้าตาเฉย มองลงมาเห็นซาฟารีแคมป์เป็นจุดเล็กๆ หลังจากไต่ขอบตรงนั้นตรงนี้โหมโรงได้พอสมควรแล้วก็มาถึงไฮไลท์ มาร์คขับรถทิ่มลงเนินชันๆ ไปตรงๆ เลยจ้า ท่ามกลางเสียงอึกอักของผู้โดยสารที่ควรจะกรี๊ดแหละ แต่ดันเป็นพวกตกใจเงียบกัน ขณะที่รถไหลลงมาตามทางลาดชัน มันค่อนข้างไปด้วยแรงโน้มถ่วงแล้ว แต่สังเกตว่ามาร์คจะบังคับพวงมาลัยเหมือนงูเลื้อยเล็กๆ อีก คล้ายกับว่าเฉียงล้อเพื่อเพิ่มแรงต้านทานไม่ให้มันพรวดลงเร็วจนรถพลิก

รูปนี้เงาะถ่าย ไม่ใช่แค่โชว์ไต่ขอบ แต่ตอนจบดิ่งลงมาตรงๆ เลย

จะอย่างไรก็เถอะ อีนี่หนุกมากกกก มันส์มาก โอ๊ยชอบ อยากลองขับเองด้วยซ้ำ ตอนลงมาจอดหน้าแค้มป์ได้สำเร็จ เห็นครอบครัวฝรั่งครอบครัวหนึ่งยืนอึ้งอยู่ คงสงสัยว่าบริการของรีสอร์ทรึเปล่า ราคาเท่าไหร่นะ

การเดินทางกลับไม่ต้องมีคนนำแล้ว เพราะว่าสว่างมองเห็นทาง มาร์คมาขับรถขาวนำ เงาะขับรถแดงตาม ผู้โดยสารนั่งเหมือนขามา รู้สึกเหมือนได้เล่นโรเลอร์โคสเตอร์น้อยๆ แถมท้ายอีก ๒๐ กม. โคตรมันเลยท่านผู้ชม

โอมานอีสออซั่มมมม #๔

ความเดิมตอนที่แล้ว พวกเราหุบแคมป์ขึ้นรถ และออกเดินทางกันต่อ จากหาดที่กางเต็นท์นอนไปยังที่แวะลำดับถัดไป ระยะทางจริงๆ ไม่ได้ไกลเลย แต่มีความระทึกเกิดขึ้นจนได้ เพราะว่าที่เห็นเมฆดำๆ เมื่อค่ำวาน กับฝนลงเม็ดนิดๆ หน่อยๆ นั่น กลับทำให้เกิดน้ำหลากกระทันหัน แล้วไหลตัดเอาถนนเลียบทะเลขาดบางจุด ลักษณะพื้นที่รับน้ำเป็นแบบเดียวกับหาดที่เราอยากให้ตั้งแคมป์ทีแรกแล้วมาร์คบอกว่าเป็นทางน้ำไหล ไม่ปลอดภัย นั่นเอง โห.. โปรจริงไรจริง ข้าน้อยขออภัยที่ลบหลู่เม้าในใจว่าเฮียนอยด์ไปรึเปล่า ข้าน้อยผิดไปแล้ว

นอกจากรถเราสองคัน ยังมีรถยนต์คันอื่นอีกสองสามคันที่ขับวนๆ กันไปมา หาทางกลับเข้าสู่ถนนหลัก เมื่อขับไปถึงทางตันก็ต่อแถวกันถอยยาวและยูเทิร์น ทุกคนดูงงๆ และชิวๆ ปะปนกันไป หลังจากพยายามอยู่พักใหญ่ รถทุกคันก็กลับเข้าสู่ถนนหลักได้สำเร็จ ไม่นานนักเราก็มาถึง Wadi Shab โอเอซิสที่เป็นที่นิยมของเหล่านักท่องเที่ยว แต่ไม่รู้นิยมกันประสาอะไร ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตที่จะทำให้เข้าใจลักษณะพื้นที่ มีน้อยมาก เนื่องจากเงาะมาร์คยังไม่เคยมาที่นี่ เราก็พยายามค้นข้อมูลทั้งเว็บไทยและเว็บเทศ แต่นอกจากรูปสวยๆ แล้ว ก็ไม่ค่อยได้ความอะไรนัก เว็บไทยมีกระทั่งรูปสาวสวยในชุดเดรสยาว แต่งหน้าเต็ม ซึ่งภาพแบบนี้จะทำให้คิดอะไรได้มากไปกว่า อ้อ มันสะดวกสบายล่ะ จริงไหม

ชีวิตจริงนี่เพลงพี่ใหม่ต้องขึ้น มันไม่ใช่เลย มั้นมั้ยใช่เลยยยย..

เราเพิ่งรู้ว่าความแม่บ้านทำให้เงาะมัวแต่บริการทุกคนจนยังไม่กินข้าว แต่ห่อข้าวใส่กล่องมาด้วย แม่นางเลยนั่งกินข้าวริมน้ำ บรรยากาศดี๊ดี ปลายน้ำตรงจุดที่จะต้องเริ่มเดินทางด้วยการขึ้นเรือข้ามฟากไปก่อนนี้ มีน้ำที่ใสมากจนน่าโดด มีกอหญ้าเขียวสดตรงกลางน้ำเป็นฉากหน้า และล้อมกรอบด้วยภูเขาหินสีน้ำตาลสว่างด้านหลัง แพะสี่ห้าตัวหากินอย่างอิสระ บางตัวห้าวๆ หน่อยพยายามมาแทะสายกระเป๋าพวกเราด้วย หมาตัวหนึ่งเล่นน้ำอย่างเมามัน ก่อนเจ้านายที่เป็นฝรั่งจะตะโกนเรียก แล้วมันก็กระโจนขึ้นฝั่งอย่างเริงร่า มาร์คบ่นว่าค่าเรือข้ามฟากแพงไป (หัวละ ๑๐๐ บาท รวมไปกลับ ระยะแค่ตาเห็นเนี่ยแหละ) เริ่มเดินจากฟากนี้ไม่ได้หรือไงนะ

เมื่อพวกเราพร้อม ก็ได้เวลาลงเรือกัน ท่ามกลางอากาศที่ร้อน แดดแรงระดับที่เอื้อต่อธุรกิจหมูแดดเดียวและบรรดาปลาตากแห้งทั้งหลาย แต่พอได้อยู่กลางน้ำก็รู้สึกดีขึ้นมาก ยังไม่ทันเหงื่อยุบเราก็มาถึงอีกฝั่ง และเริ่มออกเดินเท้ากันด้วยความใสซื่อ ไม่ได้รู้จักโอเอซิสแห่งนี้เลยแม้แต่น้อย และเนื่องจากการจัดกระเป๋าของทริปนี้เป็นการจัดกระเป๋ามาเที่ยวทะเลทราย เราจึงไม่ได้เอากระเป๋ากันน้ำมาด้วย กล้องและของรักของหวงต่างๆ จึงเปลือยเปล่าอยู่ในกระเป๋าผ้าใบสะพายติดตัว

เส้นทางช่วงต้นเป็นทางลัดเลาะผ่านรั้วบ้าน รั้วสวนของผู้คน ผ่านสวนอินทผาลัม และพืชที่หน้าตาคล้ายๆ บ้านเรามากมาย ไม่นานนักก็พบว่าพื้นมันแฉะๆ จากนั้นน้ำมันก็นองๆ แอ่งแรกเราโดดหย็องแหย็ง พยายามเหยียบกิ่งไม้ ยอดหญ้าไม่ให้รองเท้าเปียก พอเจอแอ่งที่สองซึ่งน้ำสูงราวตาตุ่ม ก็ตัดสินใจถอดรองเท้าเดิน ไม่ได้เข้าใจตั้งแต่ต้น แต่มาเก็ตทีหลังว่า แอ่งน้ำเหล่านี้น่าจะไม่ใช่น้ำปกติของวาดี้ชาบ แต่มันน่าจะเกิดจากฝนตกเมื่อคืนมากกว่า มองไปไกลๆ แล้วน้ำใสมาก แต่ในแอ่งที่พวกเรากำลังย่ำอยู่นี้เป็นน้ำขุ่นโคลน หญ้าใต้เท้านุ่มนิ่มและเย็นสบาย ถ้าเป็นหญ้าแบบนี้ไปตลอดให้เดินซักสิบโลยังไหว

แต่แหม.. ชีวิตมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น ปูนนี้แล้วน่าจะรู้แล้วนะ

สลับกับทุ่งหญ้าน้ำท่วม พื้นที่พ้นน้ำกลายเป็นถนนกรวด เราใส่รองเท้ากลับคืน เดินไปสักพักก็เจอลำธารอีก ภูมิประเทศเปลี่ยนไปจากพื้นที่ชุ่มน้ำ กลายเป็นลานหินสลับลำธารตื้นๆ ในอ้อมกอดของภูเขาทั้งสองฝั่ง ปะหน้าด้วยสีเขียวของต้นไม้ที่ไม่รู้จักและอินทผาลัมที่ดูรวมๆ แล้วเท่ห์สุดๆ สุดท้ายเราทุกคนก็พ่ายแพ้ต่อความใส่ๆ ถอดๆ เลยย่ำรองเท้าผ้าใบลงน้ำไปเลย กลับมาแล้วโคตรเหม็นอับ เราตากมันอยู่ตั้งสองเดือนแน่ะกว่าจะกลับมาใส่ได้อีก บริเวณตรงนี้จะเป็นบริเวณที่เราเห็นภาพตามอินเตอร์เน็ตว่าคือ วาดี้ชาบ เป็นอิมเมจว่าโอเอซิสต้องเป็นแบบนี้นะ

แต่จริงๆ แล้ว วาดี้ชาบไม่ได้มีแค่นั้น เส้นทางเดินสำรวจที่นี่ทอดยาว สูงขึ้นไปใต้ชะง่อนผาของภูเขาหิน เดินเพลินๆ อยู่ๆ ทางเดินที่เคยเป็นลานกว้างจนกลัวหลง ก็แคบเข้าและชันขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ รู้ตัวอีกทีก็เก็บกล้องเก็บมือถือหยุดถ่ายรูปหมด เพื่อโฟกัสไปที่ก้าวแต่ละก้าวบนก้อนหิน มันไม่ได้เหนื่อยมากนักสำหรับเราที่ออกกำลังกายเรื่อยๆ แต่ความร้อนของแดดในหลายๆ จุดที่ไม่มีร่มเงา และความที่ไม่ได้เตรียมตัวทำให้กังวลสารพัด ไหนจะห่วงกล้อง ไหนจะห่วงชีวิตเวลาข้ามเหว เราทั้งเดินทั้งปีนป่ายอยู่พักใหญ่ รองเท้าที่เปียกไปแล้วทำให้การยึดเกาะไม่ค่อยดี แล้วถึงจุดหนึ่งหนิงก็เอ่ยปากก่อนว่า เอาแค่นี้แหละ ไม่ไปต่อแล้ว จะค่อยๆ ชื่นชมบรรยากาศ แล้วเดินลงไปรอด้านล่างช้าๆ

เราและเงาะมาร์ค ตัดสินใจเดินและปีนป่ายต่ออีกจนกระทั่งถึงน้ำตกแรก และเดินตัดผ่านหน้าน้ำตกแรกไปจนถึงโค้งใหญ่ๆ ที่มองเห็นทิวทัศน์ข้างหน้าที่ตระการตา พบว่ามันยังอีกไกลเลยโว้ย จีงตกลงกันว่าจะหยุดเพียงเท่านี้ น้ำตกแอ่งใหญ่ที่เราไปถึง น่าเล่นน้ำมากๆ เสียงน้ำตกดังซู่ซ่าตลอดเวลา ขาแช่น้ำเย็นสบายจนแทบจะลืมไปว่าเราอยู่ในประเทศตะวันออกกลางนะนี่ ที่ใช้คำว่าแทบจะลืมเพราะพระอาทิตย์คอยย้ำเตือนเราตลอดเวลาว่า เอ็งกำลังอยู่ในประเทศตะวันออกกลางเฟ้ย อย่าได้ทำเป็นลืมไป นี่แน่ะ แผดๆๆๆ

ในความเห็นของเรา เทรควาดี้ชาบไม่ได้ยากจนเกินไป แต่ควรเตรียมตัวและอุปกรณ์ให้พร้อม แล้วเริ่มเดิมแต่เช้าหากต้องการเดินสูงขึ้นไปจนถึงแอ่งด้านในที่ ดูจากอัตราความแปรผันของวิวต่อความสูงแล้ว ข้างบนคงจะยิ่งอลังการ และควรจะเตรียมเสื้อผ้ามาเล่นน้ำด้วย เพราะน้ำใสปิ๊งเย็นเจี๊ยบ ดูจากแผนที่จะพบว่า เส้นทางเทรคจะลัดเลาะไปตามซอกเขา แต่ระยะหลังไม่สามารถเดินเท้าที่ลำธารได้แล้ว เพราะทั้งน้ำทั้งเกาะแก่งมันเยอะขึ้น เลยจะต้องปีนป่ายเลียบภูเขาไปนั่นเอง ซึ่งทางเดินเขาก็ทำไว้ปลอดภัยดี มีแค่ช่วงข้ามหินตามโค้งเท่านั้นที่อาจจะต้องบู๊นิดนึง นานๆ ทีจะมีจุดนั่งพักให้ด้วย

กล้องโกโปรเก่าที่ฝ่าฟันกันมาหลายทริปของเรา ตายในหน้าที่ไปตั้งแต่จุดแรกๆ ของการจุ่มน้ำ รูปไม่หาย เย้ๆ แต่กล้องก็ไม่หายเช่นกัน ป่านนี้ยังไม่มีกล้องกันน้ำตัวใหม่เลย หงิง.. เราสามคนเดินกลับทางเก่าและก็พบว่าน้ำที่ท่วมทุ่งหญ้ามีปริมาณสูงขึ้นอีก น้ำใสมาก และมีปลาตัวเล็กๆ ว่ายด้วย เอาจริงๆ ถ้าไม่รีบไปไหนต่อ เรานั่งดูปลาได้อีกเป็นชม. เป็นอย่างน้อย

เมื่อนั่งเรือข้ามฟากกลับ (ลำไหนก็ได้ จ่ายเงินรอบเดียว) พบมุ้ยหนิงที่นั่งรออยู่แล้วอย่างชิวๆ เราก็ไปเข้าห้องน้ำก่อนจะเดินทางต่อ ปริศนาเรื่องห้องน้ำก็คลี่คลายตรงนี้ เพราะแก๊งสามสาวเข้าห้องน้ำหญิงที่เมือกๆ มีกลิ่นตามประสาห้องน้ำในที่สาธารณะกันเสร็จ ก็ไม่ได้บ่นว่าอะไร แต่มุ้ยเข้าห้องน้ำแล้วออกมาชื่นชม ว่าห้องน้ำหอม และมีพนักงานที่ดูแลดีมาก ทำให้พวกเรางงมาก ประชดเหรอมุ้ย มุ้ยบอกว่าชมจริงๆ แล้วเล่าให้ฟังว่าบริการภายในห้องน้ำชายนั้นสุดยอดอย่างไร ทันทีที่ใช้ห้องน้ำเสร็จและเดินออก พนักงานจะเช็ดพื้นและฉีดน้ำหอมปรับอากาศทันที (มียื่นทิชชู่ด้วยไหมจำไม่ได้แฮะ) ทำให้พื้นแห้งสะอาด ห้องน้ำหอมตลอดเวลา เราสามสาวหวีดกันใหญ่ว่า ห้องน้ำหญิงแม่งบ้านๆ เลยนะโว้ย

ไม่ทันที่จะโวยวายเกินไป ก็เหลือบไปพบที่ละหมาดแยกหญิงชาย ถึงกับหยุดเรื่องห้องน้ำเลย เพราะท่ามกลางเปลวแดดที่แผดเผา ห้องละหมาดชายเป็นอาคารติดแอร์ ส่วนของผู้หญิงเป็นผ้าใบล้อมไม้ปัก ๔ ด้าน ตั้งไว้โด่ๆ กลางแจ้ง เฟมินิสต์อึ้ง พูดอะไรไม่ออก หิวด้วยแหละเลยข้ามเรื่องนี้ไป ไปหาอาหารกันดีกว่า

เนื่องจากละแวกนั้นแม้จะเป็นที่เที่ยวดังระดับประเทศ แต่ก็ดูเงียบๆ หาร้านรวงไม่ค่อยมี เราสุ่มได้ร้านอาหารอาหรับสไตล์บุฟเฟต์ในโรงแรมริมทะเลแห่งหนึ่ง ซึ่งข้อดีคือเราสามารถนั่งมองทะเลสีฟ้าเข้มกลางแดดจ้าได้ผ่านกระจกในห้องแอร์ ข้อเสียคือเราไม่เคยกินอาหารอาหรับ แล้วเริ่มต้นด้วยบุฟเฟ่ต์เลย ถ้าจำไม่ผิดหัวละประมาณ ๕๐๐ บาท แต่สบายมาก เพราะว่าเรากินอาหารทำเองกันมา ๔ มื้อติดแล้ว งบเหลือๆ

สรุปผลการกินอาหารอาหรับได้ความว่า เรา หนิงและมุ้ยชอบกินแทบทุกอย่างเลย เราได้กินฮัมมูสเป็นครั้งแรก (บ้างก็ออกเสียงว่าฮัมมัส เอานะ อันเดียวกัน อร่อยเหมือนกัน) กินกับขนมปังพิต้า ปลาทอดแล้วก็ซุปต่างๆ มื้อนี้ถ้านับปริมาณแล้วรู้สึกว่ากินไม่คุ้ม เพราะว่าน่าจะหิวเกินเลยกินได้ไม่เยอะ แต่ถ้านับว่าเป็นการทำความรู้จักกับอาหารอาหรับครั้งแรกแบบฟิวชั่นหน่อยๆ แล้วล่ะก็ กำไรเห็นๆ เพราะพวกเราเปลี่ยนความคิดเรื่องอาหารอาหรับไปเลย

เมื่ออิ่มหนำสำราญ เข้าห้องน้ำที่มีห้องน้ำหญิงที่สะอาดสะอ้านกลิ่นหอมแล้ว เราก็หันหลังให้ทะเล มุ่งหน้ากลับเข้าสู่แผ่นดิน เพราะคืนนี้เราจะไปนอนในทะเลทรายกัน และเรื่องราวการเดินทางมันก็มหากาพย์ซะจน ขอยกไปไหว้ตอนหน้าเลยแล้วกันนะ ไม่มีชี้คสุดหล่อเหมือนในนิยายทะเลทราย มีแต่ความมันส์ลุ้นระทึกล้วนๆ ตามประสาป้าซิ่งๆ ไม่มีใครรักก็รักตัวเองเยอะๆ รักเยอะก็เที่ยวเยอะโอเคมั้ยพีเพิ่ลลลลล